วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลนครสวรรค์

 “ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลนครสวรรค์” เป็นศูนย์กลางในการให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือและงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรและสังคมในเขตพื้นที่การปกครองคาทอลิกส่วนภูมิภาคนครสวรรค์  หรือที่เรียกในภาษาคาทอลิกว่า “สังฆมณฑลนครสวรรค์” โดยมีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้

ความเป็นมา
                พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ได้แบ่งเขตการปกครองคาทอลิกออกเป็นส่วนภูมิภาค จำนวน 10 ภูมิภาคทั่วประเทศ  เพื่องานอภิบาลด้านศาสนา  นอกจากนั้น พระศาสนจักรตระหนักถึงปัญหาของพี่น้องประชากรทั้งที่อยู่ในชุมชนวัดคาทอลิก  และเพื่อนพี่น้องต่างศาสนา  อันเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์สังคมพัฒนาในแต่ละเขตการปกครองขึ้น  เพื่อให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตามกำลังความสามารถและศักยภาพที่องค์กรในฐานะองค์กรทางศาสนาสามารถดำเนินการได้  บนพื้นฐานของเมตตาธรรมและมนุษยธรรม  ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของ “ความรัก” ในศาสนาคริสต์นั่นเอง
                เขตพื้นที่การปกครองคาทอลิกภูมิภาคนครสวรรค์ หรือที่เรียกว่า “สังฆมณฑลนครสวรรค์” ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2510  มีพื้นที่ความรับผิดชอบในเขตภาคเหนือตอนล่าง  โดยเฉพาะมีพื้นที่ซึ่งหลายแห่งอยู่ติดกับเขตชายแดน  และภูเขาสูงประกอบด้วยชนเผ่า และชุมชนอื่นที่ยากไร้ ต้องการความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก  ด้วยเหตุนี้ทำให้สังฆมณฑลจัดตั้งศูนย์สังคมพัฒนาขึ้นในสำนักงานกลางของสังฆมณฑลที่ จ.นครสวรรค์  และให้ความสำคัญต่อภารกิจดังกล่าวเป็นอย่างมาก  อันเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของภาครัฐ กิจการของศูนย์ในระยะแรกเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องชุมชนวัดคาทอลิก  ต่อมา ความยากไร้และขาดการพัฒนาในชุมชนพี่น้องชนเผ่า  โดยเฉพาะเขตพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก  ทำให้ย้ายศูนย์กลางมาอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตากเช่นในปัจจุบัน  เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องในพื้นที่  โดยเฉพาะปัญหาที่พี่น้องชนเผ่าประสบอยู่  ซึ่งหลายครั้งเป็นที่มาของปัญหาต่อชุมชนไทย  อันได้แก่ โรคไข้เลือดออก และไข้เท้าช้าง  รวมทั้งโรคระบาดที่นำมาจากฝั่งพม่า  รวมทั้งภาระในการรักษาพยาบาลและอาชญากรรมในพื้นที่  เป็นต้น

วัตถุประสงค์
1.การสงเคราะห์ช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ประชากรที่ประสบพิบัติภัยต่าง ๆ
2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรบนพื้นฐานของเมตตาธรรมและมนุษยธรรม
3.การส่งเสริมกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก  พิการ ทุพลภาพ
4.การประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคศาสนาและภาคประชาสังคมด้านงานพัฒนาในนามของพระศาสนจักรคาทอลิกส่วนท้องถิ่น

พื้นที่กลุ่มเป้าหมาย
                ประกอบด้วย 13 จังหวัด ได้แก่
                1.นครสวรรค์                                       2.กำแพงเพชร                                     3.ชัยนาท
                4.ตาก                                                     5.พิจิตร                                                  6.ลพบุรี
                7.สิงห์บุรี                                              8.สระบุรี                                               9.สุโขทัย
                10.อุทัยธานี                                          11.พิษณุโลก                                        12.เพชรบูรณ์
                13.อุตรดิตถ์

จำนวนประชากรเป้าหมาย
                จำนวนประชากรในพื้นที่รวม จำนวนประมาณ 8,326,052 คน
                ในจำนวนนี้เป็นประชากรคาทอลิก จำนวน 14,037 คน

การบริหารจัดการ
                ศูนย์สังคมพัฒนา ประกอบด้วยบุคลากร ในศูนย์รวม 4 คน ดังนี้
                1.ผู้อำนวยการ                                     ได้แก่ บาทหลวงธวัช        สิงห์สา
                2.เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชน           ได้แก่ นายประสงค์            หินฝนทอง
                3.เจ้าหน้าที่ฝ่ายภาคสนาม/กิจกรรมได้แก่ นายนิตย์                     มือแป
                4.เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี                          ได้แก่ นางสาว ปานริสา    ชาญปัญญาพล    
                ส่วนเจ้าหน้าที่ประสานในระดับชุมชนวัดคาทอลิก มีจำนวนทั้งสิ้น 28 คน ซึ่งได้แก่ อาสาสมัครด้านการพัฒนาสังคมของแต่ละชุมชนวัด จำนวน 28 แห่งในพื้นที่ทั้ง 13 จังหวัดข้างต้น

กิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ
                ศูนย์ฯ มีประสบการณ์ในการบริหารโครงการและจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยสรุป ในปี พ.ศ.2551-2552 ที่ผ่านมาแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.ด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อสุขภาพเร่งด่วน  ประกอบด้วย
1.1.การสงเคราะห์อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรคแก่ชุมชนที่ประสบอุทกภัยในระหว่างเดือน สิงหาคม – ตุลาคม พ.ศ.2552  ในพื้นที่จังหวัดภาคกลางที่ประสบอุทกภัย
1.2.การอบรมการโภชนาการและสุขอนามัยแก่ชุมชนชาวไทยภูเขา  ให้สามารถปฏิบัติสุขอนามัยและโภชนาการได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย
1.3.การร่วมกับหน่วยแพทย์ในการตรวจสุขภาพ ให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ  โดยเฉพาะในกลุ่มแม่และเด็ก  และผู้สูงอายุ

2.ด้านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ
                2.1.การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก  ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการเกษตรกรรมปลอดสารพิษเพื่อสุขภาวะ  ลดการใช้สารเคมี  เพิ่มการใช้ปุ๋ยชีวภาพ จุลินทรีย์จากน้ำหมัก  และน้ำส้มควันไม้  รวมทั้งสารไล่แมลง และการเกษตรผสมผสาน เป็นต้น
                2.2.การอบรมผู้นำด้านเกษตรกรรมเพื่อสุขภาวะ ที่ผ่านมาได้แก่ การอบรมผู้นำเกษตรปลอดสารพิษในชุมชนชาวไทยภูเขา  โดยอาศัยวิทยากรที่เป็นปราชญ์ชุมชน  หมอสมุนไพรชุมชน  เป็นต้น
                2.3.การนำแกนนำชุมชนเข้ารับการศึกษาดูงานในพื้นที่การเกษตร  เช่น การศึกษาดูงานการเกษตรผสมผสานในแปลงเกษตรผสมผสานระดับ จ.ตาก  เป็นต้น
                2.4.การเก็บรวบรวมภูมิปัญญาด้านการเกษตรปลอดสารพิษ เช่น วิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ ตำราพืชสมุนไพรชาวไทยภูเขา ฯลฯ  เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่แลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนชาวไทยภูเขา
                2.5.การจัดทำโครงการ “คนสู้ชีวิต” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2552 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิก โดยหน่วยงานสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย  ในการศึกษา รวบรวมผู้ยากไร้ที่ประสบความสำเร็จ  รวมทั้งผู้ยากไร้ที่ต้องการการพัฒนา  เพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือตามความสามารถต่อไป
                2.6.การจัดทำโครงการ “เกษตรกรรมยั่งยืน” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550-2552 ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิทยากรและองค์ความรู้ในการฝึกอบรมร่วมกับหน่วยงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนของพระศาสนจักรคาทอลิกไทย

3.ด้านกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                3.1.การเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเผยแพร่ในชุมชนวัดคาทอลิกเป้าหมาย
                3.2.การเป็นผู้ริเริ่มประสานการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ในชุมชนเป้าหมาย  เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายใน  โดยปัจจุบันมีชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  ได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในการอบรมและเผยแพร่แนวทางการจัดโครงการด้วย

                3.3.การรณรงค์เพื่อการแบ่งปันช่วยเหลือระหว่างพี่น้องในชุมชน  โดยจัดทำโครงการ “รณรงค์มหาพรต ประจำปี”  ซึ่งเป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องการให้เกิดการออมเพื่อการพัฒนา และพึ่งพาในกลุ่มชุมชนเป็นหลัก เป็นต้น